เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง 700 – 1,685 เมตร ที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปี ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปหนึ่งปี มีชาวม้งอพยพเข้ามาอยู่ก่อน เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านปานขมุก” ต่อมาได้มีชาวม้งจำนวน 3 ครอบครัว คือนายชงหลื่อ แซ่ว่าง , นายไซหลื่อ แซ่ลี และนายจู้สืบ แซ่ว่าง เข้ามาทำไร่และตั้งบ้านเรือน และมีชาวม้งและชาวจีนฮ่อ นำโดยนายเลาป๊ะ แซ่ย่าง อพยพหนีการปราบปรามยาเสพติดจากบ้านป่าคา ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มอีก 30 ครัวเรือน จึงทำให้หมู่บ้านใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นหมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้เมืองที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ม้ง หมายถึง อิสระชน เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน ต่อมาชาวจีนเข้ามาปราบปราม เป็นเหตุให้อพยพลงมาถึงตอนใต้ของจีน และเขตอินโดจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตอนเหนือของประเทศไทย ประมาณพ.ศ. 2400 โดยมีสองกลุ่มได้แก่ ม้งน้ำเงินและม้งขาว ไม่ชอบให้เรียกว่าแม้ว โดยถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ประชากรของม้งในประเทศไทย มีมากเป็นอันดับ 2 รองจากกะเหรี่ยง ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก
ภาษาม้งจัดอยู่ในสาขาเมี้ยว-เย้าจองตระกูลจีน-ธิเบตไม่มีภาษาเขียนแต่ยืมตัวอักษรภาษาโรมัน มาใช้ ม้งไม่มีภาษาที่แน่นนอน ส่วนใหญ่มักจะรับภาษาอื่นมาใช้พูดกัน เช่น ภาษาจีนยูนนาน ภาษาลาว ภาษาไทยภาคเหนือ เป็นต้น ซึ่งม้งทั้ง 3 เผ่าพูดภาษาคล้ายๆ กัน คือ มีรากศัพท์ และไวยากรณ์ที่เหมือนกัน แต่การออกเสียงหรือสำเนียงจะแตกต่างกันเล็กน้อย ม้งสามารถใช้ภาษาเผ่าของตนเอง พูดคุยกับม้งเผ่าอื่นเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ม้งไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันชาวม้งได้เขียน และอ่านหนังสือภาษาม้ง โดยการใช้ตัวอักขระหนังสือละติน (Hmong RPA) เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ของม้ง จึงอาศัยวิธีการจำและเล่าสืบต่อกันมาเพียงเท่านั้น